ทักษิณ ชินวัตร
ทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางกลับบ้านเกิด ประเทศไทย ในรอบ 17 ปี เรียกได้ว่าเป็นข่าวคึกโครมเลยทีเดียวในช่วงเวลานี้
ตั้งแต่อุ๊งอิ๊งประกาศว่าพ่อของเธอจะกลับบ้าน หลังพรรคเพื่อไทยจับมือแบบโคตรข้ามขั้ว หักหานน้ำใจของใครต่อใครแทบทั้งประเทศ
ก่อนหน้านั้น 20 กว่าครั้งแล้วที่นายทักษิณเคยประกาศจะกลับไทย แต่ไม่สามารถเดินทางกลับมาได้จริง ๆ เสียที ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551
จนกระทั่งวันนี้ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 07.20 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ ได้โพสต์ลงใน Facebook
ว่าส่งนายทักษิณ ขึ้นเครื่องบินที่ประเทศสิงคโปร์ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว มาถึงสนามบินดอนเมืองในเวลา 09.00 น. มาพร้อมกับลูกชายนายพานทองแท้
คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร, นายบรรณพจน์ ดามาพงษ์ และบอร์ดี้การ์ด บนเที่ยวบินนี้ โดยมีแกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกหลายคน เดินทางมารอรับนายทักษิณ
ประวัตินาย ทักษิณ ชินวัตร
ชื่อ: พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra)
เกิด: วันที่ 26 กรกฎาคม 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
บิดา / มารดา: เลิศ และยินดี ชินวัตร ธิดาในเจ้าจันทร์ทิพย์ (ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์ มีศักดิ์เป็นหลานทวดในเจ้าไชยสงครามสมพมิตร ณ เชียงใหม่ (ราชปนัดดาในพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 2)
พี่ / น้อง / ครอบครัว: เยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติ, เยาวภา วงศ์สวัสดิ์, พายัพ ชินวัตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
คู่สมรส: คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
บุตร: พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค), พินทองทา ชินวัตร (เอม) และแพทองธาร ชินวัตร (อิ๊ง)
การศึกษา: ช่วงมัธยม จบจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย, ในระดับอุดมศึกษา จบที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512), ต่อมาศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น, ศึกษาระดับปริญญาโท โดยได้รับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษาในปี 2518, อีกทั้งยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต เมื่อปี 2521, ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2537 และได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ แห่งมหาวิทยาลัยทากุโชกุ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ในปี 2550 อีกด้วย
ย้อนรอยรัฐประหาร คปค. 19 กันยายน 2549
ปี พ.ศ. 2549 นายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เดินทางไปปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นภารกิจที่ต่างประเทศตั้งแต่ 9 กันยายน
พอถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น ประเทศไทยเกิดรัฐประหารขึ้น โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้นำการเข้ายึดอำนาจ ในระหว่างที่นายกกำลังเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นเป็นต้นมา นายทักษิณ ไม่สามารถกลับมาประเทศไทย การยึดอำนาจนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการต่อต้านด้วยอาวุธใด ๆ
วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารจึงแถลงยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง อ้างว่า “การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ
ทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย” พร้อมให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยใน 1 ปี
จากวันที่ทำการยึดอำนาจ จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 17 ปี ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรายังไม่มีประชาธิปไตยเสียที อ้างแต่ความปองดองของคนในชาติ
ตลอดระยะเวลา 17 ปี การต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง มีมาอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นได้จากเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553
เพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เมื่อมีเสื้อแดงออกมาชุมนุม เราจะเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมา ช่วงที่ พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย