ปล่อยปลา อย่างไรให้ได้บุญ ปลาอยู่รอดปลอดภัยและห่างไกลจากโดนดราม่า
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีหลาย ๆ คนมักไปซื้อปลาหน้าเขียงมาปล่อย ช่วงนี้จึงมีกระแสการ ปล่อยปลา ปล่อยกบ ปล่อยเต่า ทำบุญกันเยอะเลย
นอกจากจะได้รับบุญ ได้ความสบายใจกันแล้ว และมีความเชื่อในเรื่องของการเสริมบุญบารมี คนเกิดวันจันทร์ ควรปล่อยน้องดุก คนเกิดวันอังคาร
ต้องปล่อยน้องช่อน อะไรแบบนี้ ถึงจะนำสิ่งไม่ดีออกไปให้พ้นจากตัวเองและครัวครอบ บางคนบอกว่าช่วยให้อิสระกับสัตว์ที่กำลังถูกขัง กำลังจะโดนฆ่า หรือช่วย
ขยายพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แต่เพื่อน ๆ รู้รึป่าวว่าปลาแต่ละชนิด น้องมีถิ่นอาศัยไม่เหมือนกัน รวมไปถึงกบกับพี่เต่าด้วย ถ้าเราปล่อยผิดที่
น้อง ๆ อาจจะเสียชีวิตจากการถูกปลาถิ่นกิน หรือปลาที่เราปล่อยไป เค้าจะไปรุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นทำความเสียหายกับระบบนิเวศวิทยาถิ่นนั้น ๆ ได้
เราควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนว่าจะเลือกนำปลา กบ เต่า ชนิดใดไปปล่อยลงในบริเวณไหนได้บ้าง เพื่อให้สัตว์ที่เราปล่อยไป เค้ายังรอดปลอดภัย
สามารถหากินได้ วันนี้แม่หมีจะมาแนะนำการเลือกปลา ให้การ ปล่อยปลา ของเพื่อน ๆ ได้รับบุญและความสบายใจ ไม่เกิดดราม่าเหมือนที่ดาราหลาย ๆ คน
โดนมา ยกตัวอย่าง คุณไอซ์ อภิษฏา ได้โพสว่าเอาบุญมาฝาก ซึ่งในคลิปที่ถ่าย จะเห็นว่าเธอยกกาละมังเทลงแม่น้ำ เป็นปลาที่เธอซื้อมาในตลาดกาละมังใหญ่พอสมควร
และปลาดุกตัวอย่างใหญ่เช่นกัน หลังจากคลิปลงได้ไม่นาน กระแสดราม่าการ ปล่อยปลา ในครั้งนี้เกิดขึ้น มีชาวเน็ตไปบอกเธอว่า “ปลาดุกไม่ควรปล่อยลงในแม่น้ำ
เพราะปลาในตลาดส่วนใหญ่คือ ลูกผสมสายพันธุ์ปลาดุกอุยผสมปลาดุกทวีปแอฟริกา มันกินทุกอย่างที่ขวางหน้า” หรือ ก่อนปล่อยช่วยศึกษาก่อนว่าเป็นปลาท้องถิ่น
หรือ alien species ที่มันทำลายระบบนิเวศกันแน่ ดังนั้นเพื่อป้องกันการได้บาปโดยไม่รู้ตัว แม่หมีเลยไปหาข้อมูลจากกรมประมงมาฝากเพื่อน ๆ สายบุญที่น่ารักทุกคน
ปล่อยปลา อย่างไรให้ได้บุญ
- สัตว์ที่ปล่อยไปผิดกฏหมายหรือไม่
เพื่อน ๆ รู้หรือป่าวว่าเต่าของไทยหลายชนิดนั้นเป็นสัตว์คุ้มครอง พ่อค้าบางคนทำเป็นธุรกิจเลย จับเต่ามาขังไว้ในกาละมัง รอเราซื้อเอาไปปล่อย
พอเราปล่อยเสร็จ เค้าจะรีบไปจับกลับมาใส่กาละมังคืน ถ้าตำรวจมาเจออาจจะถูกจับได้ทั้งคนซื้อและคนขายเลย ต้องระวังให้ดี
- เป็นสัตว์ท้องถิ่นปล่อยได้หรือไม่
สัตว์น้ำบางประเภทเป็นลูกผสม อย่างปลาดุกตามตลาด ไม่ใช่ปลาท้องถิ่น ตัวใหญ่ ๆ โต ๆ ทั้งนั้น ปล่อยลงไปนี่ มันรับประทานทุกอย่างที่ขวางหน้าเลยจ้า
พอ ๆ กับปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาลนั่นแหละ เลี้ยง ๆ ในตู้ พอน้องโตตัวใหญ่ เลี้ยงไม่ไหวเอาไปทิ้งลงคลองบ้าง ลงท่อบ้าง น้องจะทำลายล้าง
จนระบบนิเวศพังพินาศแน่นอน เพราะน้องเอเลี่ยนที่จะทำให้ปลาไทยถึงกาลอวสานได้เลย น้องกินไข่ปลาพื้นถิ่น กินแม้กระทั่งลูกปลาตัวเล็ก ๆ เคยได้ยินข่าวมั้ย
เมื่อหลายปีก่อนว่า เจ้าหน้าที่ไปจับปลาซัคเกอร์ที่หนองน้ำขนาดใหญ่ ในเขตเทศบาลเมืองตาก แค่หนองน้ำเดียวสามารถจับได้กว่า 5 ตัน มันแพร่พันธุ์ไวมากนะ
- ปล่อยปลา ไปแล้วจะรอดมั้ย
อย่างปลาไหล ลงเรือไปปล่อยลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้นะ น้องไหลตายแน่ ก่อนจะปล่อยสัตว์น้ำใด ๆ ควรศึกษาถิ่นที่อยู่ของน้องก่อน เพราะปลาแต่ละชนิด
เค้ามีแหล่งที่อยู่อาศัยต่างกัน ปลาไหลน้องอยู่ในน้ำตื้น ๆ มีดินให้ลงไปฝังตัวได้ หอยขมงี้ ต้องปล่อยในน้ำนิ่ง ๆ มีดินเลน ดินโคลน ปล่อยมั่ว ๆ ไปจะได้บาปแทนได้บุญเด้อ
- สัตว์น้ำที่เอาไปปล่อย แข็งแรงหรือไม่
ควรเลือกเอาน้อง ๆ ที่แข็งแรง มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรค ไม่ป่วย ไม่มีแผลตามผิวหนัง ถ้าเราปล่อยน้อง ๆ ที่ป่วยเป็นโรคลงไปในน้ำ จะทำให้สัตว์น้ำตัวอื่น ๆ ติดเชื้อโรคได้
- น้ำเน่า น้ำกร่อย น้ำเค็ม หรือป่าว
ก่อนจะปล่อยสัตว์น้ำใด ๆ ควรดูคุณภาพของน้ำก่อนนะ ไม่ใช่ว่าปล่อยลงไป น้ำงี้ดำปี๋เลย ถ้าระดับน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ ปล่อยสัตว์น้ำลงไปเค้าไม่สามารถหายใจได้ และตายในที่สุด
ในส่วนของแม่น้ำบางแห่งที่อยู่ติดทะเล บางทีช่วงน้ำทะเลหนุนสูง น้ำบริเวณนั้นจะเป็นน้ำกร่อยหรือเค็ม ถ้าเอาปลาน้ำจืดไปปล่อย เราอาจจะยืนเศร้าเพราะเห็นน้องน็อคน้ำได้
ปล่อยปลา ปล่อยสัตว์น้ำให้เหมาะกับสถานที่
เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบ ปล่อยปลา มาก ๆ เวลาเดินไปเจอปลาในกาละมังหน้าเขียงตามตลาด ใจอ่อนทุกที ต้องมีติดไม้ติดมือเอาไปปล่อยทีละตัวหรือ 2 ตัวตลอด แต่การที่เราจะ
ปล่อยน้องลงไปในแม่น้ำ ในคลอง เราควรศึกษาก่อนว่า น้องปลาตัวที่เราหิ้วจากตลาดนั้น สามารถดำรงชีวิตในแหล่งน้ำที่เราจะเอาไปปล่อยได้หรือป่าว
- ปลาหมอไทย น้องชอบน้ำนิ่ง ๆ ตามบ่อที่มีกอหญ้าหรือพืชน้ำอยู่ สามารถปรับตัวได้เก่ง แต่ส่วนใหญ่น้องจะถูกจับจากแหล่งน้ำที่ตัวเองอยู่ และถูกเอามาขายให้ปล่อยลงในแม่น้ำใหญ่ ๆ
- ปลาช่อน เป็นปลาพื้นถิ่นในบ้านเรา ชอบอาศัยในพื้นที่รก ๆ มีต้นไม้ ต้นหญ้าขึ้น อย่างในทุ่งนา ชายคลอง ปลาช่อนกินสัตว์ตัวเล็ก ๆ เป็นอาหาร การที่จะ ปล่อยปลา ทีละเยอะ ๆ ควรที่จะปล่อยแบบกระจายถิ่นที่อยู่ บ่อนั้น 5 ตัว ตรงโน้น 7 ตัว อะไรแบบนี้ ถ้า100 ตัว แล้วปล่อยลงที่เดียวกันหมด น้องช่อนคงไปกินปลาหรือสัตว์ตัวเล็ก ๆ แถวนั้นเกลี้ยงแน่นอน
- ปลาสวาย ควรปล่อยน้องตัวใหญ่ ๆ หน่อย 4 – 5 นิ้ว ขึ้นไป ควรปล่อยลงในคลองจะมีโอกาสรอดได้สูงกว่าปล่อยลงในแม่น้ำสายใหญ่ ๆ
- ปลาไหล น้องอยู่น้ำไม่ลึก ตรงที่มีดิน มีเลน มีหญ้าขึ้นรก ๆ สามารถปล่อยได้ ห้ามปล่อยในแม่น้ำลึก ที่มีกระแสน้ำแรง น้องอาจจะมีโอกาสรอดน้อยลง
- ปลากราย เป็นปลาท้องถิ่น ถ้าจะปล่อยน้องควรเลือกขนาดความยาวซัก 4 – 5 นิ้วขึ้นไป ปล่อยลงคลองหรือลงแม่น้ำได้ แต่ปลากรายเป็นปลาล่าเหยื่อ ปล่อยทีละเยอะ ๆ ในจุด ๆ เดียว ไม่ดีกับปลาท้องถิ่นที่อยู่แถวนั้นแน่นอน ควรกระจาย ๆ บ่อยนะเพื่อน ๆ
- ปลาบู่ เพื่อน ๆ ต้องแยกให้ออกระหว่างปลาบู่ทรายที่เป็นปลาน้ำจืดกับปลาไล้ก้อที่เป็นปลาบู่น้ำกร่อยนะ จะได้ไม่ปล่อยลงผิดแหล่งน้ำ ปลาบู่ทรายน้องชอบใต้น้ำรก ๆ หน่อย มีกองหิน มีขอนไม้ ปล่อยตัวโต ๆ หน่อย มีโอกาสรอดสูง
- หอยโข่ง หอยขม ต้องการน้ำที่สะอาด ไม่ลึกมาก ควรไปหาแหล่งน้ำย่อย ๆ บ่อยจะดีกว่า แม่น้ำหรือคลองในกรุงเทพ คุณภาพน้ำดีไม่พอ ปล่อยไปโข่ง ขมคงไม่รอดแน่แท้
ปลาที่ห้ามปล่อยเด็ดขาด
นอกจากจะปล่อยให้พูดที่ ถูกทางแล้ว ยังมีปลาที่ห้ามปล่อยเด็ดขาดอีกด้วย มีทั้งแบบที่ปล่อยลงไปแล้วตายแน่นอน กับอีกแบบคือ ปล่อยลงไปน้องกินทุกอย่างหมดเกลี้ยง
แม้กระทั่งไข่ปลาหรือปลาตัวเล็ก ๆ ปลาพวกนี้ถูกเรียกว่า alien species หรือปลาเอเลี่ยนสายพันธุ์รุกราน
- ปลาไน เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และที่สำคัญน้องเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ ส่งผลกระทบต่อปลาพื้นถิ่นนั้น ๆ โดยเฉพาะปลาตัวเล็ก
- ปลาทอง เป็นปลาสวยงาม ส่วนใหญ่เราจะเลี้ยงในตู้ ถึงน้องจะเป็นปลาน้ำจืดตามที แต่เราไม่ควรปล่อยน้องลงในแม่น้ำ เพราะน้องแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิตได้เลย
- ปลามังกรหรือปลาอโรวาน่า คนมักเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม ชอบน้ำสะอาด แต่น้องดุร้าย ไม่ควรนำมาปล่อยลงในแม่น้ำ ลำคลองเด็ดขาด เพราะปลาพันธุ์นี้กินปลาตัวเล็กกว่าทุกชนิด
- ปลาดุก ตามตลาดเป็นปลาลูกผสม กินปลาตัวเล็กเป็นอาหาร แพร่พันธุ์ได้ง่าย เพราะมีความทนทาน ห้ามปล่อยลงในแม่น้ำเด็ดขาด เพราะน้องดุกจะกินทุกอย่างที่ขว้างหน้า
- ปลานิล เป็นปลามีถิ่นกำเนิดมาจากแม่น้ำไนล์ แอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง ทะเลสาบ แต่ไม่ควรปล่อยลงในแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวเด็ดขาด ปลานิลอาจจะไม่รอด
- ปลาทับทิม ที่เราเห็นถูกขังในกาละมังตามตลาด เพื่อน ๆ หลายคนเห็นแล้วสงสารอยากซื้อน้องมาปล่อย แต่น้องเป็นปลาที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมา ไม่สามารถรอดชีวิตตามแหล่งน้ำธรรมชาติได้ด้วยตนเอง
- ปลาซัคเกอร์ หรือปลาเทศบาล เป็นเอเลี่ยนต่างถิ่นตัวร้ายมาจากทางอเมริกาใต้ เป็นปลาที่ปรับตัวได้ง่ายต่อทุกสภาพ ห้ามปล่อยเจ้าเอเลี่ยนนี่ลงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเด็ดขาด เพราะน้องจะกินไข่ปลาท้องถิ่น แย่งอาหารปลาอื่น ๆ กินเป็นอาหาร
- ปลาจาระเม็ดน้ำจืด หรือที่เรียกกันว่า เปคู มี 2 สี คือ แดงและดำ เป็นญาติกับปลาปิรันย่า ฟันคมมาก กินทั้งเนื้อ กินทั้งพืช ขนาดคนตกปลายังบอกว่าน้องกันสายเบ็ดขาดได้สบาย ๆ ถ้ารวมตัวกันเป็นฝูง คิดดูว่าจะดุร้ายกวาดเรียบขนาดไหน
- ปลาชะโด เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ตระกูลเดียวกันกับช่อน ปากมีฟันแหลมคม มีนิสัยดุร้ายมาก หวงที่ หวงถิ่นเป็นที่สุด ถ้าเราปล่อยลงแหล่งน้ำตามธรรมชาติ น้องทำลายระบบนิเวศแน่นอน เพราะเป็นปลาล่าเหยื่อ กินปลาด้วยกันเป็นอาหาร
การปล่อยสัตว์น้ำลงแหล่งน้ำตามธรรมชาตินั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศเรา แต่การที่เรา ปล่อยปลา ปล่อยสัตว์น้ำลงในแม่น้ำ
ในช่วงวันพระ วันปีใหม่ วันเกิดนั้น ถือว่าเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตของเราเอง แต่ควรเลือกปลาที่จะเอาไปปล่อย และควรเลือกสถานที่ให้เหมาะกับปลาชนิดนั้น ๆ
เพื่อให้ระบบนิเวศไม่เสียสมดุล อย่างที่บอกเราควรศึกษาให้ดีเสียก่อน อยากจะปล่อยเพื่อทำบุญ ถ้าปล่อยผิดที่ ปล่อยผิดตัว อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ตามมา
ที่มา