พาเที่ยว

วัดตะปอนน้อย วัดเก่าเมืองจันท์ อุโบสถโบราณที่มีอายุมากว่า 400 ปี

วันนี้เข้าตำรา อิป้าพาเที่ยว อีกแล้ว ไปจ๊ะ อิป้าแม่หมีจะพาเข้าไปชมความงามของ วัดตะปอนน้อย กันซึ่ง เป็น 1 ใน 6 วัดของ เส้นทางวัฒนธรรมเมืองเพนียด สู่ขลุงบุรี

ได้แก่ วัดทองทั่ว วัดตะปอนน้อย วัดตะปอนใหญ่  วัดคานรูด วัดเกวียนหัก และวัดวันยาวบน เพนียด คืออะไร  แม่หมีสรุปสั้น ๆ ให้ทุกคนฟัง เพนียด เป็นชุมชนโบราณ

ถูกจารึกไว้ มีอายุราว ๆ พ.ศ. 800 – 1000 ชาวพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวชองและชาวขอม ได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมส่วนใหญ่มาจากอินเดีย

เพราะว่ามีการติดต่อค้าขายกันทางเรือสำเภา ซึ่งตรงนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการค้นพบซากโบราณสถาน และมีจารึกเพนียด ที่ทำด้วยศิลาทราย

รวมไปถึงโบราณวัตถุ หินแกะสลักต่าง ๆ เส้นทางเข้าสู่เมืองเพนียดจะมาจากเมืองมาตามถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านเพนียด ตัวโบราณสถานจะอยู่ห่างจากวัดทองทั่วไม่มาก

หลวงพ่อใหญ่ วัดตะปอนน้อย Thai temple วัดเก่าในจันทบุรี

จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีวัดเก่าแก่หลายแห่งเลยทีเดียว วันนี้ได้โอกาสดี มีคนพาขี่รถออกไปรับอากาศดี ๆ นอกบ้าน วัดตะปอนน้อย อยู่ที่ตำบลตะปอน

อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีความเก่าแก่มากว่า 400 ปี อย่างที่ทราบ ๆ กัน จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่นมนาน

ทุกวันนี้ยังคงเหลือหลักฐานต่าง ๆ มีทั้งโบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรมหลายที่ รวมถึง วัดตะปอนน้อย แห่งนี้ด้วย ตอนแรกแม่หมีคิดว่าทางวัดจะปิดไม่ให้เข้า

เพราะเนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 แต่พอขี่วน ๆ ไป มาจอดที่หน้าวัด เดินลงมาทำหน้า งง ๆ ไม่กล้าเดินเข้าไป เพราะเงียบมาก ไม่มีคน ไม่มีรถเลย

พี่คนงานที่กำลังซ่อมหลังคากุฏิอยู่บอกว่า เข้าไหว้พระได้นะครับ รีบยกมือไหว้ขอบคุณ ที่ช่วยบอก ไม่งั้นคงวนรถออก ไม่ได้ชมความงามของวัดนี้เป็นแน่แท้

เพดานวัดตะปอนน้อย อุโบสถโบราณ 400 กว่าปี tourist Chanthaburi

ประวัติ วัดตะปอนน้อย

วัดตะปอนน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เดิมทีชาวบ้านเรียกว่า วัดกะโพลงน้อย และต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “วัดตะปอนน้อย

เป็นวัดหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2526  วัดได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา

แม่หมีไปหาความหมายมาให้ ซึ่งแปลได้ว่า เป็นเขตที่พระมหากษัตริย์ ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ นั่นเอง

เท่าที่หาข้อมูลผ่าน ๆ ตาจากใน google จะมีอุโบสถโบราณอยู่ 1 หลัง  ซึ่งที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้ามมาเมื่อสมัยใดกันแน่  ตอนที่เห็นครั้งแรกคือ

ดูขลัง ดูเก่าแก่แบบผ่านกาลเวลามานมนาน ตรงด้านข้างของอุโบสถ จะมีพระเจดีย์เก่าอยู่ 1 องค์ แม่หมีไปอ่านป้ายประวัติมา ได้ใจความว่า ตามตำนานได้เล่าไว้

เมื่อบูรณะอุโบสถหลังเก่าเรียบร้อยแล้วนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2229 ได้มีกลุ่มอุบาสก อุบาสิกา และชาวบ้านที่มีความศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาร่วมกันช่วยก่อสร้าง

เจดีย์เก่าจันทบุรี วัดสวยในจันทบุรี โบสถ์เก่าเมืองจันท์ Wat Chanthaburi

องค์พระเจดีย์ โดยสันนิษฐานว่าเพื่อเป็นพุทธบูชา และเป็นอนุสรณ์คู่กับพระอุโบสถหลังเก่านั่นเอง โดยลักษณะขององค์เจดีย์ เป็นทรงระฆัง 8 เหลี่ยม

ความกว้างของฐาน 7 เมตร สูง 19 เมตร ใช้อิฐดินเผาในการสร้าง และฉาบยาด้วยปูนดำ ซึ่งเป็นศิลปะในช่วงสมัยอยุธยา เป็นถาวรวัตถุที่มีความสำคัญยิ่ง

ควรค่าแก่การอนุรักษ์ กรมศิลปากรต้องเข้านะนี่ ในส่วนของอุโบสถโบราณ ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดเช่นกันว่าสร้างเมื่อใด แต่มีหลักฐานของการบูรณะในปี 2125

โดยคุณหญิงเหล็ง พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ร่วมกันบริจาคทรัพย์ ทุนทรัพย์ ซ่อมแซมบูรณะจนแล้วเสร็จ ได้มีการจัดงานฉลองสมโภชอุโบสถ

เป็นระยะเวลา 7 วัน 7 คืน ด้วยกัน หลังจากนั้นอุโบสถโบราณนี้ ได้ใช้ทำสังฆกรรมมาโดยตลอด พอปี 2227 จึงถูกบูรณะอีกหน เป็นการเปลี่ยนผนัง

และเสาไม้มาเป็นการใช้อิฐและปูน ด้วยรูปแบบวิธีโบราณ ใช้ดินเหนียว ดินทรายเปลือกหอย มาตำและฉาบด้วยอิฐเผา พระอุโบสถโบราณนี้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา

เป็นรูปทรงเก๋งจีนผสมไทย สันนิษฐานได้ว่า เป็นฝึมือช่างหลวง ในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นศิลปะที่มีความสวยงามมาก ๆ  อุโบสถโบราณที่มีอายุมากว่า 400 ปี เชียว

กราบหลวงพ่อใหญ่ วัดตะปอนน้อย โบสถ์เก่าจังหวัดจันทบุรี

อิป้าพาเที่ยว อุโบสถโบราณ

วัดแห่งนี้ มีอีกชื่อว่า วัดอินทราราม แม่หมีเดินเข้าไปภายในอุโบสถโบราณแห่งนี้ ทั้ง ๆ ที่วันนี้อุณหภูมิสูงมาก แดดร้อนจ้าแสบตา แสบผิวไปหมด แต่ภายในอุโบสถกลับเย็นมาก

มันเป็นเรื่องหน้าแปลดีเน๊อะ หลาย ๆ คนคงรู้สึกแบบนี้ เราเข้ามากราบพระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือ หลวงพ่อใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ เป็นองค์พระพุทธรูปสีทองเหลืองสัมฤทธิ์

หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่า มีขนาดหน้าตักกว้าง 76 นิ้ว สูงรวมฐานแล้ว 123 นิ้ว เป็นศิลปะในช่วงของสมัยอยุธยาตอนต้น พอเพื่อนรู้ว่าเราไปวัดมา เพื่อนเลยตั้งคำถามว่า

คุณสังเกตเห็นคราบที่ไหลลงมาจากดวงตาหลวงพ่อไหม เหมือนน้ำตาใช่ไหมล่ะ เค้าว่ากันว่า ดวงตา (ดั้งเดิม) ของท่านถูกขโมยไป เรื่องนี้ก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหนนะ

แม่หมีรับฟังมาอีกทีเหมือนกัน นอกจากความสวยงามขององค์ หลวงพ่อใหญ่แห่งวัดตะปอนน้อย นั้น เราจะได้เห็นงานเขียนจิตกรรมฝาผนังที่มีความงดงามมาก

ภาพจิตกรรมฝาผนัง อุโบสถโบราณวัดตะปอนน้อย รีวิววัดเก่าเมืองจันท์

เป็นภาพเขียนสีฝุ่นผสมกาว เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของคนในสมัยก่อน มีการติดต่อค้าขายกันทางเรือสำเภา จากในภาพถ่ายของแม่หมี เพื่อน ๆ จะเห็นความแตกต่าง

ของคนในภาพเขียน คนไทยจะเป็นแบบหนึ่ง คนจีนจะสวมเสื้อผ้าอีกแบบหนึ่ง และคนที่สวมหมวกน่าจะเป็นอีกเชื้อชาติหนึ่ง เป็นภาพที่เล่าเรื่องวิถีชีวิตของคนโบราณได้เป็นอย่างดี

พอเงยหน้ามองด้านบนเพดาน โอ้โห ทำไมสวยแบบนี้  เพดานไม้ เสาไม้ เก่าแก่จริง ๆ  ไหนจะกรอบประตู กรอบหน้าต่าง ที่ประดับลายปูนปั้น บานประตู บานหน้าต่าง

ที่ถูกทำขึ้นด้วยไม้สัก ถ้าเราเดินออกมาด้านนอก เราจะเห็นหน้าบันของอุโบสถเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ด้านล่างเป็นแผ่นไม้แกะสลักรูปการรบในเรื่องของรามเกียรติ์

พญายักษ์กำลังรบกับลิง เสียดายที่ภาพจิตกรรมฝาผนังเริ่มเลือนและซีดไปมากแล้ว แต่ที่นี่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2478 แล้วนะ

หน้าบัณ วัดตะปอนน้อย โบสถ์ไม้เมืองไทย วัดเก่าเมืองจันท์

บริเวณด้านนอก

เสียดายแต่เจดีย์ทรงระฆังนี่แหละ ที่ชำรุดยอดเจดีย์หักหายไปแล้ว ต้นไม้ ต้นหญ้าขึ้นกลายเป็นเจดีย์สีเขียวเลย เสียดายอีกรอบคือ หอไตรที่อยู่ตรงสระน้ำ

ตอนนี้พังลงมาทั้งหลังแล้ว คนที่ชอบประวัติศาสตร์ ชอบงานโบราณสถานแบบเรา ใจหายแว๊บเลย มาไม่ทันเห็นหอไตรกลางสระน้ำ สมัยก่อนคงสวยมากทีเดียว

ภายในวัดได้มีพิพิธภัณฑ์ที่ทางวัดได้รวมรวมนำของเก่าที่เป็นพวกโบราณวัตถุ เช่น ภาพรอยพระพุทธบาทจำลองที่ทำด้วยผ้า หีบพระธรรม ซากหอไตร

ตู้พระธรรม ถ้วยชามจากเมืองจีน ซึ่งทางวัดเก็บรักษาเป็นอย่างดีอีกด้วย ก่อนหน้าที่จะมีโควิด – 19 ระบาดหนักเหมือนเช่นทุกวันนี้ วัดมีการจัดตลาดโบราณด้วย

มีสินค้าต่าง ๆ พืชผัก ผลไม้ อาหารพื้นเมืองที่หากินได้อยากแล้ว ในทุก ๆ วันเสาร์อีกด้วย

วัดอินทราราม ตะปอนน้อย จันทบุรี พญานาค เศียรพญานาค

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

ซึ่งวัดเก่าต่าง ๆ ที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร ไม่สามารถซ่อมแซม บูรณะวัดได้ด้วยวิธีแบบปกติทั่วไป เพราะว่า ตามมาตรา 10

ของพ.ร.บ.โบราณสถานฯ ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน

หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดี หรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี”

สิ่งที่ห้ามเด็ดขาดคือ ห้ามรื้อทิ้ง และห้ามปรับปรุงแก้ไขจนหมด ที่สำคัญทั้งหมดทั้งปวง จะดำเนินการใด ๆ ต้องขออนุญาตกรมศิลปากรก่อน

ซึ่งมีวัดเก่า วัดโบราณหลายวัด ทำการบูรณะเอง ทาสีใหม่กลบสีเดิม โดยไม่คำนึงถึงของเดิมที่มีมาแต่โบร่ำ โบราณ หรือทุบทิ้งเพราะความทรุดโทรมของอาคาร

โดยไม่ยื่นหนังสือต่อกรมศิลปากร ว่าต้องการซ่อมแซม บูรณะเปลี่ยนแปลงหรือรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ ซึ่งกรมศิลปากร สามารถยื่นฟ้องได้ เป็นคดีอาญาอีกด้วย

ฐานทำลายโบราณสถาน มีโทษทั้งจำและปรับ มีหลายคดีทีเดียวที่วัดถูกกรมศิลปากรฟ้อง แม่หมีรู้แหละว่า การรอกรมศิปลฯ มาบูรณะ อาจจะช้า และรอนาน

เแต่ควรทำให้ถูกกฏหมาย เพื่อรักษาสมบัติของชาติไว้นะ เก็บไว้ให้ลูกหลานดู รักษาสุขภาพกันด้วย ช่วงนี้สถานการณ์ยังไม่ปลอดภัยใด ๆ ทั้งสิ้น

รอบหน้าอิป้าแม่หมี จะพาไปดูวัดสวย ๆ ที่ไหนอีกติดตามกันด้วยนะ และฝากแวะมาชมรูปภาพ หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ เพจ ออกเที่ยว-ก่อนที่จะยืนเยี่ยวไม่ไหว

แผนที่ วัดตะปอนน้อย