วันลอยกระทง ปี 2564 รัฐบาลไฟเขียวให้จัดงานได้แล้วนะ รู้กันรึยัง
ในปี 2564 นี้ วันลอยกระทง ตรงกับวันวันศุกร์ ที่ 19 พฤศจิกายน ตามปฏิทินจันทรคติไทยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตอนเด็ก ๆ พอถึงเดือนพฤศจิกายน
แม่หมีจะตั้งหน้าตั้งตารอมากเลย เพราะที่โรงเรียนมีจัดกิจกรรมประกวดการทำกระทงในทุกระดับชั้น ไม่มีการเรียนการสอน เด็ก ๆ ทุกคนจะต้องเตรียมอุปกรณ์
ในการทำกระทงและมาประดิษฐ์ที่โรงเรียนในช่วงเช้า หลังจากทานข้าวกลางวันเสร็จ จะเป็นการประกวดในห้องเรียนก่อน เพื่อหากระทงที่สวยที่สุด 3 ใบ
ไปแข่งกับระดับชั้นอื่น ๆ หลังจากนั้นช่วงบ่ายจะเป็นงานกิจกรรมที่ทุก ๆ คนรอลุ้นกันเลยว่ากระทงห้องใครจะได้รับรางวัล แม่หมีจะติด 1 ใน 3 ของห้องเรียนตลอด
ไม่ได้โม้นะ แต่พอไปประกวดรวม ไม่เคยได้อันดับ 1 – 3 เลย ได้รางวัลชมเชยซะเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนเด็ก ๆ นี่โคตรภูมิใจเลย ยืนแอ็คท่าอยู่หน้าแถว
ประวัติประเพณี วันลอยกระทง
วันลอยกระทง เป็นประเพณีที่สืบสานวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตามประวัติศาสตร์ไทย ที่ว่าด้วยการทำกระทงของท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือที่เรารู้จัก
ในชื่อว่านางนพมาศ ที่เป็นคนแรกในการทำกระทง โดยนำเอาบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใส่ เค้าเรียกว่าดอกโคทม โดยวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมนี้
เพื่อเป็นการขอบคุณพระแม่คงคา และขอขมาที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำ ตามความเชื่อของคนไทยจะเป็นการลอยเคราะห์ลอยโศก
ให้ออกไปจากชีวิตและขอพรสิ่งที่ต้องการด้วย โดยปัจจุบันมีหลักฐานว่าประเพณีลอยกระทงไม่น่าจะเก่าแก่เกินไปกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงมาจากภาพจิตกรรม
และในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 – 3 ได้นิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อนำมาแข่งขันกันในหมู่ขุนนาง มาในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองจึงยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่
โดยให้มาทำเรือลอยประทีปแทน ในส่วนของปี 2564นี้ ตอนแรกคิดว่าจะจัดงานไม่ได้ เพราะหลาย ๆ จังหวัดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเจ้าเชื้อโรคโควิดยังไม่ดีขึ้นเลย
แต่ได้ข่าวว่าปีนี้ทางรัฐบาลไฟเขียวให้จัดงานลอยกระทงได้ นายกบอกว่าอนุมัติให้จัดงานได้นะ เพื่ออนุรักษ์สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่าไว้
เงื่อนไขในการจัดงาน วันลอยกระทง
1. หน่วยงานให้รักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น งดเล่นดอกไม้ไฟ ประทัด ห้ามปล่อยโคมลอย และไม่ดื่มเหล้า
2. หน่วยงานควรตรวจสอบพาหนะในการรับ – ส่งให้บริการประชาชน
3. หน่วยงานที่จัดงาน ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยภายในงานต้องไม่แออัด บังคับการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
4. ต้องมีจุดคัดกรอง มีการจัดลงทะเบียนไทยชนะ ก่อนเข้าและออก ต้องมีเจลแอลกอฮอล์ที่จุดบริการ และถังขยะต้องมีฝาปิดมิดชิด ในส่วนของห้องน้ำต้องทำความสะอาดทุก 1 – 2 ชั่วโมง
ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภูมิภาค
ประเพณี วันลอยกระทง ของภาคกลาง
เมื่อก่อนตอนอยู่บ้านที่กรุงเทพ ตั้งแต่เล็กยันโตแม่หมีไปลอยกระทงที่บ้านย่าทุกปี บ้านย่าเราจะติดริมคลองวัดนางชี มีกระทงสวย ๆ ไหลผ่านในคลองเยอะแยะมากมาย
จนมาวันหนึ่ง เรารู้สึกว่าทำไมปีกระทงน้อยลงไปเยอะจัง นั่นคือ ภายในสวนสาธารณต่าง ๆ มีการจัดงานลอยกระทงขึ้น ทำให้หนุ่ม ๆ สาว ๆ ครอบครัวพากันไปลอยใน
บริเวณงานกันมากขึ้นกว่าการที่จะมาลอยลงในคลองเหมือนสมัยก่อน แล้วก่อนที่เราจะย้ายบ้านมาจันทบุรี เราไปลอยที่พุทธมณฑล ที่มีองค์พระ หน่วยงานจัดบ่อไว้
แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณพ่อพาทุกคนที่บ้านไปงาน เผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัย เราจำได้ว่าคนเยอะมาก งานอลังการสุด ๆ สว่างไสวไปทั่วทั้งงานเลย สวยจนไม่เคยลืม
ประเพณี วันลอยกระทง ของภาคเหนือ
นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง เพื่อบูชาพระอุปคุตต์หรือสะดือทะเล คำว่า “ยี่เป็ง” เป็นภาษาเหนือ ยี่ คือ เดือนยี่ หรือเดือนที่ 2 ของปี เป็ง คือ เพ็ญนั่นเอง แต่ปัจจุบันได้จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
ในส่วนของภาคเหนือตอนบน นิยมลอยโคม หรือที่เรียกว่า ว่าวฮม หรือ ว่าวควัน โดยใช้ผ้าบาง ๆ มาทำ ลักษณะคล้าย ๆ บอลลูน มีการสุมควันข้างใต้ ทำให้โคมค่อย ๆ ลอยขึ้นไป
ในส่วนของปี 2564 ประเพณีเดือนยี่เป็งของเชียงใหม่ คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2564 แต่ตอนนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ กำลังวางแผนในการจัดรูปแบบของงานอยู่
ภายใต้มาตรการการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข หรือประกาศจังหวัดอย่างเคร่งครัด สำหรับใครที่วางแผนคิดว่าจะไปงานลอยกระทงที่เชียงใหม่ ให้เช็คข้อมูลก่อนนะ
เช็คให้ละเอียดก่อนที่จะจองโรงแรม หรือออกเดินทาง เพื่อที่จะได้ไม่ Fell ตอนไปถึงเชียงใหม่นะ แม่หมีเองเคยไปนะ ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ อนุบาลโน้น จำได้ว่าคึกคักและสวยงามมากเลย
ประเพณี วันลอยกระทง ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
งานสมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป นี่คืองานลอยกระทงที่ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ในจังหวัดร้อยเอ็ด ประเพณีฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ คือประเพณีสิบสองเดือนของชาวไทย
ที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่น ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย โดยมีประเพณีลอยกระทง จัดขึ้นในวันขึ้นสิบห้าค่ำ วันเพ็ญเดือนสิบสอง จัดขึ้นเพื่อขอขมาต่อแม่น้ำที่เราได้ใช้กิน
ได้ใช้อาบ มีการแห่กระทงประทีป 12 หัวเมือง เมื่อปี 2563 อย่างในปี 2563 ที่ผ่านมาจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดงาน สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป มีการประกวดธิดาสาเกตนคร
มีขบวนแห่จากหัวเมือง 12 หัวเมือง มีการประกวดกระทง มีการแสดงแสง สี เสียงอีกด้วย ที่บึงพลาญชัย ที่นี่จัดงานใหญ่ทุกปี ใครเคยไปมาแล้วบ้าง เล่าให้แม่หมีฟังบ้างนะ
ประเพณี วันลอยกระทง ของภาคใต้
ว่ากันว่าเมื่อก่อนนี้ ทางภาคใต้ไม่มีกำหนดการของการลอยกระทง เพียงแต่จะลอยต่อเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเหมือนการลอยเคราะห์ลอยโศก ลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์
โดยจะนำเอาหยวกมาทำเป็นแพ แล้วนำอาหารมาบรรจุใส่ไว้ โดยหยวกจะมีการแทงเป็นลวดลายสวยงาม มีธงทิวประดับประดา พร้อมทั้งดอกไม้ ธูปเทียน รวมไปถึง
เงินและสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เลยนะ อย่างเมื่อปีที่แล้ว 2563 ที่จังหวัดสงขลา ที่เทศบาลนครหาดใหญ่
ได้จัดงานสีสันแห่งสายน้ำ สืบสานประเพณีลอยกระทง มีทั้งประกวดนางนพมาศและหนูน้อยรักษ์ไทย อีกทั้งนิทรรศกาและสาธิตประดิษฐ์กระทง มีฟรีคอนเสิร์ตอีกตะหาก
เอาจริง ๆ เราว่าเป็นประเพณีที่ดีและเป็นจุดขายของประเทศไทย เพียงแต่ว่าหลังจากลอยกระทงเสร็จแล้ว ในวันรุ่งขึ้น กระทงสวย ๆ เหล่านั้นที่เราทำเองหรือซื้อมา
จะกลายเป็นขยะและเป็นหน้าที่ของพี่ ๆ พนักงานเก็บขยะ ต้องลงเรือมาช่วยกันตักกันช้อนขึ้นเอาออกจากแม่น้ำ หลัง ๆ ตัวแม่หมีเองจะลอยกระทงในรูปแบบออนไลน์เสียมากกว่า
แล้วไปหาดูบรรยากาศริมแม่น้ำแทน เราว่าความคิดที่ว่า 1 บ้าน 1 กระทง เป็นเรื่องดีนะ พ่อ แม่ ลูก รวม 5 คน ลอยกระทง 1 ใบพอแล้ว หรือไปลอยในที่ที่เค้าจัดงาน ที่เป็นบ่อน้ำ สระน้ำ
ที่ไม่ได้ไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ก็ดีนะ ง่ายต่อการเก็บรักษาอีกด้วย อย่างการไปลอยกระทงลงในทะเล วันรุ่งขึ้นกระทงจะเกลื่อนหาด ตะปูที่ใช้ในการยึดใบตองจะเต็มหาดด้วยเหมือนกัน
ตัวเราไปลงเล่นน้ำ เด็ก ๆ ไปเล่นน้ำทะเล จะเกิดอันตรายได้นะ โดนน้ำทะเลตะปูจะเป็นสนิท คนโดนตำไปแย่เลย ยังไม่นับพวกกระทงโฟมอีกนะ ถ้าลอยออกไปโดนปลาตอด
แล้วมันจะเป็นยังไงต่อไปล่ะ สำหรับสัตว์น้ำในทะเล เค้าแยกไม่ได้หรอกอันไหนอาหาร อันไหนโฟม ลอย ๆ มาบนผิวน้ำ ปลาตอดตุ๊บ ๆ ติดปากออกมา กลืนลงท้อง มีแต่เป็นอันตราย
ไม่ว่าจะอันตรายต่อสัตว์น้ำเอง และยังอันตรายต่อธรรมชาติอีก ที่จังหวัดจันทบุรีจะมีหลายที่มาก ที่จัดงานประเพณีลอยกระทง ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีสถานการณ์โรคโควิด – 19
พวกเรามักจะพากันไปลอยที่วัดซึ้งบน ซึ่งเป็นวัดที่จัดงานประดับประดาไฟสวยมาก คนไปงานเยอะมาก รถติดยาว ๆ กันเลยทีเดียว ปีนี้ใครจะไปงานลอยกระทงที่ไหน
มาเราให้แม่หมีฟังได้นะ ติดต่อเราได้ใน เพจท่องเที่ยวของเรา แต่ให้รักษาระยะห่าง ใส่แมส ล้างเจล ระวังตัวเองกันดี ๆ นะ โควิด – 19 ยังอยู่ไม่ห่างจากพวกเรา เป็นห่วงทุกคน