พาเที่ยว

สะพานข้ามแม่น้ำแคว ทางรถไฟสายมรณะ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อช่วงสิ้นปี 2565 เราได้วันหยุดอันยาวมาหน่อยหนึ่ง เลยวางโปรแกรมว่าจะกลับบ้านที่สมุทรสาคร แล้วจะพาอาเฮียไปกาญจนบุรี พาไปเดินบน สะพานข้ามแม่น้ำแคว

เป็นความโชคดีมาก เราไปถึงได้เจอรถไฟกำลังจะข้ามสะพานพอดี ได้ถ่ายรูปกับรถไฟด้วย ตื่นตา ตื่นใจ ตื่นเต้นมาก ตั้งแต่ได้ยินเสียงหวูดของรถไฟดังมาแต่ไกล

มากาญจนบุรีแล้ว ไม่แวะชมความงามของแม่น้ำแคว จะรู้สึกว่ามาไม่ถึงแหละ แวะก่อนเลยละกัน จุดหมายแรกของทริปสองล้อครั้งนี้ กับแลนด์มาร์คเมืองกาญจน์

สะพานข้ามแม่น้ำแคว

สะพานข้ามแม่น้ำแคว เที่ยวเมืองกาญจน์ไม่ไป ไม่ได้

ประวัติความเป็นมา

ทางรถไฟสายมรณะข้ามแม่น้ำแควด้วยระยะทาง 300 เมตร เรียกได้ว่าเป็นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ของโลก ที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

รางรถไฟถูกสร้างจากหยาดเหงื่อแรงงาน และชีวิตของเชลยศึกพันธมิตรนับไม่ถ้วน ทางข้ามแม่น้ำแควในจังหวัดกาญจนบุรีเริ่มมาจากท่ามะขาม ในช่วงแรก

เค้าใช้เป็นสะพานไม้ สร้างไว้แบบชั่วคราว ห่างจากสะพานที่เราเห็นในทุกวันนี้ประมาณ 100 เมตร หลังจากนั้นใช้สะพานเหล็กถาวร นำเข้าเหล็กมาจากมะลายู

ทางรถไฟสายมรณะ

โดยให้เชลยศึกชาวอังกฤษ แบ่งเป็น 11 ช่วงตอม่อคอนกรีต ความยาวทั้งหมด 300 เมตร ปลายทางของทางรถไฟนี้อยู่ที่เมืองทันบูซายัค สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สะพานแห่งนี้ถูกทหาพันธมิตรโจมตีทางอากาศอย่างหนัง จากการทิ้งระเบิด

ทำให้ในช่วงของกลางสะพานหัก ในไม่ช้าญี่ปุ่นจึงตกอยู่ในสภาพของผู้แพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ถ้าใครคิดไม่ออก ให้นึกถึงเรื่อง คู่กรรม อังศุมาลิน โกโบริ

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลของไทยได้ทำการซื้อต่อทางรถไฟนี้จากประเทศอังกฤษเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท และทำการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ใน พ.ศ.2489

อังศุมาลิน โกโบริ คู่กรรม

เรื่องเล่าตอนเป็นเด็ก

ย้อนกลับไปตอนเราเด็ก ๆ ด้วยความที่บ้านอยู่ชานเมืองกรุงเทพ การจะไปจังหวัดกาญจนบุรีเหมือนหน้าปากซอยบ้าน พ่อเราพาไปบ่อยมาก เราจำได้ดี มีอยู่ครั้งหนึ่ง

ครอบครัวเราและเพื่อน ๆ ของพ่อ จองแพไว้ จะไปล่องแพและไปดูพลุ งานแสง สี เสียงบริเวณทางรถไฟแห่งนี้แหละ โดยปกติแล้วช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน – ต้นเดือนธันวาคม

ของทุกปี จะมีการจัดงานสัปดาห์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว บอกเลยว่า มันสวยมาก ได้บรรยากาศสุด ๆ ช่วงปลายปีเมืองกาญจน์จะมีอากาศหนาวเย็นมาก นั่งดูพลุบนแพกันแบบเพลิน ๆ

มีแพอีกเป็น 100 รายล้อม ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ถึงแม้จะมีเสียงเจี๊ยวจ๊าว จากแพเธค แต่มันไม่ได้เสียอรรถรสในการดูแสง สี เสียงมากนัก รู้สึกสนุกดี

ตื่นเต้นกับบรรยากาศรอบข้าง ตอนนั้นอาจจะด้วยความเป็นเด็ก เลยรู้สึกตื่นตาตื่นใจ อยากรู้อยากเห็นไปเสียทุกอย่าง เราได้เห็นรถไฟวิ่งข้ามสะพาน พร้อมเสียงหวอ

เสียงลูกระเบิด เสียงบรรยายต่าง ๆ มันดังกึกก้อง เราเงยหน้าจับจ้องไปยังสะพาน แบบไม่ละสายตาย ยังจำภาพในวันนั้นได้อยู่เลย สวยงามมาก ถ้ามีโอกาสจะไปดูอีกให้ได้เลย

งานแสงสี สะพานข้ามแม่น้ำแคว

การเดินทางมายัง สะพานข้ามแม่น้ำแคว

ทริปสองล้อ เรากับอาเฮีย ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปกัน 2 คน เรามาพักที่บ้านแม่จังหวัดสมุทรสาคร เดินทางแต่เช้า โดยใช้ถนนเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งไปยังนครปฐม

และตรงไปจังหวัดราชบุรี ผ่านแยกนครชัยศรี ผ่านสะพานบ้านแพ้ว ผ่านตัวเมืองนครปฐม จะมองเห็นพระประโทณเจดีย์ได้อย่างชัดเจน มองไกล ๆ ยังสวยเลย

หลังจากนั้นจะผ่านแยกไปจังหวัดสุพรรณบุรี อีกไม่นานจะถึงสะพานที่จะไปจังหวัดกาญจนบุรี ก่อนหน้านั้น เราแวะปั๊มน้ำมัน หาของกินเติมพลัง

ไปต่อคิวกินข้าวแกงร้าน สุ 1000 ด้วย อย่างอร่อยเลย รสชาติเค้าดีจริงนะ ทำอาหารไม่ติดหวาน เสิร์ฟแบบร้อน ๆ ราคาไม่แพง ต้องมายืนรอจองโต๊ะเลย

สำหรับใครที่อยากนั่งรถไฟไปเมืองกาญจน์ สามารถขึ้นรถไฟขบวนธนบุรี – น้ำตก หรือขบวนรถนำเที่ยวพิเศษ กรุงเทพ – น้ำตก จะมีเฉพาะในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์เท่านั้น

จังหวัดกาญจนบุรี

คำเตือน

การเดินข้ามสะพานไปยังอีกฝั่งนั้น เราอยากบอกเพื่อน ๆ ว่า อยากให้เดินด้วยความระมัดระวัง ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์นั้น จะมีช่วงที่รถไฟวิ่งข้ามไปฝั่งโน้น

เวลารถไฟมาเค้าจะเปิดหวูด ปู๊น ๆ อยู่พักใหญ่ และใช้ความเร็วต่ำ เพียงแต่ระหว่างที่รถไฟวิ่งผ่านหน้าเราไป อย่าอยู่ใกล้ตัวรถไฟมากเกินไป จะเกิดอันตรายได้

สำหรับใครซื้อน้ำ ลูกชิ้นปิ้งกินระหว่างเดินถ่ายรูปบนสะพาน อย่าลืมเอาขยะกลับไปทิ้งด้วย อย่าไปเผลอวางไว้บนสะพาน หรือทำหล่นลงไปในน้ำ ช่วยกันเถอะ

รักษาความสะอาดกันด้วย บริเวณตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแวะมาเที่ยว ใครจะตามรอยเรามาเดินเล่นข้ามสะพาน มากันได้เลย

ทางรถไฟสะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานข้ามแม่น้ำแคว

ที่อยู่: ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
พิกัด: https://goo.gl/maps/iVYf9dNJ3yi4qUfP8
เปิดให้เข้าชม: 06.00-19.00 น.
โทร: การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.0-26218701 ต่อ 5202

คำคมท่องเที่ยว สะพานข้ามแม่น้ำแคว

แผนที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว