บอนสี ไม้ประดับราคาแรงยุคโควิด รู้หรือป่าวว่ามีประวัติเป็นมายังไง
ช่วงที่โรงเรียนถูกสั่งให้งดการเรียนการสอน โรงแรม ร้านค้า โรงงานหลาย ๆ แห่งถูกให้ปิดชั่วคราว หลาย ๆ คนเปลี่ยนอาชีพการทำงาน บางคนมาเป็นไรเดอร์ บางคนมาขายไม้ “บอนสี”
ในช่วงโควิด – 19 กำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นไม้กระแสงแรงขึ้นมาเสียอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าที่จะฮิตนี้ต้นละไม่กี่บาทเองนะ แม่หมีเป็นแม่ค้าต้นไม้มาก่อน เดินตลาดไม้
ทุกสัปดาห์ เป็นนักผสมพันธุ์ไม้ตะกูลอโกลนีมาด้วยนะ ตั้งแต่เด็กเลย เพราะตาแก่ยายแก่ที่บ้านเรา ขายไม้ดอกไม้ประดับ พาย้ายมาอยู่จันทบุรีเราก็ห่างหายจากวงการต้นไม้ไปเลย
ประวัติ บอนสี ในประเทศไทย
จริง ๆ แล้วตามประวัติของไม้ประดับนี้ มีแหล่งกำเนิดในทวีปอเมริกา รวมถึงแพร่หลายในยุโรปอีกด้วย บอนโบราณที่ได้รับความนิยมในสมัย พ.ศ.2425
จะเป็นพวก ถมยาประแป้ง กับ กระนกกระทา ซึ่งพระยาวินิจอนันกรได้บันทึกว่าฝรั่งนั้นสั่งนำ บอนสี เข้ามาปลูกในเมืองไทย และยังมีบันทึกอีกว่า
ฝรั่งชื่อมะโรมิ เลนซ์ ได้สั่งต้นบอนมาขยายพันธุ์และขายอีกด้วย จนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสไปที่ยุโรป พระองค์ได้ไม้ที่ชื่อ
เจ้ากรุงไกเซอร์กับเจ้ากรุงเดนมาร์ก กลับมาปลูกในวัง ทำให้เป็นที่นิยมมากในฝ่ายใน หลังจากนั้นเจ้านายฝ่ายในเริ่มนิยมเลี้ยงบอนกัน
และมีการนำไปถวายวัด ภายในวัดวาอารามาหลาย ๆ ที่ มีต้นบอนปลูกประดับไว้ อีกทั้งยังมีการจัดประกวด บอนสี อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่
สนามบาร์ไก่ขาว แถว ๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, วัดสระเกศ ภูเขาทอง, วันอินทรวิหาร แถวบางขุนพรหม, ร้านเสาวรส แถวบางลำพู และ
ที่บ้านของท่านเจ้าคุณทิพย์โกษา คลองบางลำพู จนในที่สุดปีพ.ศ. 2525 ได้เริ่มก่อตั้งสมาคม บอนสี แห่งประเทศไทย ที่สนามหลวง
ถือว่าเป็นตลาดบอนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ เวลานั้นเลยทีเดียว ไม่น่าเชื่อเลยนะว่าไม้ประดับอย่างบอน จะมีประวัติยาวนานขนาดนี้
บอนสี ประเภทต่าง ๆ
ต้นบอนถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ หลายร้อยชนิด ตามหมวดหมู่ต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะแบ่งออกเป็นสี หรือสายพันธุ์ แต่โดยหลักใหญ่ ๆ แล้วจะแบ่งออกตามรูปใบ 5 แบบ
- บอนใบรูปหัวใจ ตามชื่อใบเลย รูปหัวใจ ปลายใบจะแหลม ๆ ตรงก้านใบจะกลม ๆ บอนประเภทนี้ได้แก่ ไก่ราชาวดี, พญามนต์, สาวน้อยประแป้ง, สร้อยแสงจันทร์, ปาเต๊ะ
- บอนใบยาว ลักษณะก้านใบจะกลม ๆ ออกจากโคนใบหู ปลายใบเรียวแหลม ใบยาวฉีกถึงก้านใบ จะมี คุณหญิง, หงส์เหิน, กวนอิม, กรวยทอง
- บอนใบกลม รูปใบจะค่อนข้างกลม ปลายใบมนมีติ่งแหลม ๆ หรือปลายใบมล ๆ ไปเลยก็มี ตัวก้านใบกลม อยู่กึ่งกลางใบ อย่าง เมืองชล, ยูเรนัส
- บอนใบไผ่ ใบจะแคบ ๆ ไม่เกิน 2 นิ้ว ทรงใบคล้ายใบของต้นไผ่เลยแหละ ปลายใบเรียวแหลม ยาวเป็นเส้น ๆ อย่างเช่น ไผ่จุฬา, ไผ่สวนหลวง,ไผ่ธารทิพย์
- บอนใบกาบ ทรงจะคล้าง ๆ รูปหัวใจ แต่ก้านใบจะแผ่แบน ๆ มองไปมองมาจะคลาย ๆ ใบผักกาด อย่างพวก เรือนแก้ว, อังศุมาลิน, เทพลีลา
อีกแบบจะแบ่งออกเป็นตามสีสันของต้นบอน โดยแบ่งออกตามสี 4 แบบ
- บอนกัดสี จะเป็นต้นบอนที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี ตอนเล็ก ๆ ใบจะเป็นสีเขียว พอโตมาหน่อยสีจะเริ่ม ๆ เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นชมพู แดง หรือมีจุด ๆ แต้มบนใบ อย่างเช่น รัตนาธิเบศร์, หยกประกายแสง, นายดอกรัก
- บอนป้าย จะมีแถบด่าง ๆ สีแดงทับบนแผ่นใบสีเขียว อย่างเช่น ชายชล, อัปสรสวรรค์
- บอนไม่กัดสี ตั้งแต่เล็กจนโต บอนประเภทนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงใด ๆ หรือมีการเปลี่ยนแค่เล็กน้อยเท่านั้น อย่างพวก นายจันหนวดเขี้ยว
- บอนด่าง เป็น บอนสี ที่มีพื้นใบด่าง ๆ สีขาวบ้าง ขาวอมเขียวบ้าง หรือขาวอมแดง บนพื้นใบสีเขียวหรือใบด่างเหลือง อย่างพวก โชคอำนวย บัวสวรรค์
ศัพท์ที่นักปลูกบอนควรรู้
- หูใบ คือ รูปทรงคล้าย ๆ ใบหูคนเลย จะเป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างของใบ แยกออกจากกันจนเกือบ ๆ จะสะดือหรือถึงสะดือเลย
- หว่างหู คือ บริเวณรอยหยักที่เว้าเข้าไปแถว ๆ หูใบ
- สะโพก คือ ส่วนที่กว้างของหูใบ
- คอใบ คือ ปลายก้านใบที่จรดกับด้านหลังของสะดือ
- สะดือ คือ บริเวณที่เส้นของใบมาเชื่อมต่อแถว ๆ กลางใบ
- กระดูก คือ สันของใบ ที่เราเห็นเป็นเส้นใบตรงกลางใบ
- ร่างแห คือ ลายขอบใบ เส้นใบที่แตกจากเส้นใบหลัก
- หนุนทราย คือ จุดสีบนพื้นใบ เป็นจุดสีเล็ก ๆ คล้าย ๆ กับเม็ดทราย
- พร่า คือ จุดสีเล็ก ๆ ที่กระจายไปทั่วพื้นใบ
มือใหม่หัดปลูกบอน
ช่วงนี้หันหน้าไปทางไหน จะเจอ บอนสี แทบทุกบ้าน รวมถึงบ้านเราด้วยซึ่งตอนนี้ต้องยกให้เป็นราชินีแห่งไม้ใบเลยทีเดียว เพราะเป็นกระแสนิยมกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ
ด้วยความที่มีสีสันสวยงาม อีกทั้งรูปทรงของใบมีหลายแบบ วันนี้แม่หมีจะมาพามือใหม่ไปปลูกบอนกัน เป็นเทคนิคและวิธีง่าย ๆ แบบคร่าว ๆ บ้านไหนใช้วิธีแบบแม่หมีบ้างนะ
- วิธีเปลี่ยนกระถาง วิธีเปลี่ยนดินให้กับต้นบอน สำหรับกระถางไหนที่ดินร่วน ดินไม่เหนียวเราสามารถเอามือจับที่โคนต้นบอน คว่ำกระถางลง ขยับโยกเบา ๆ 2 – 3 ที ต้นไม้จะหลุดออกกระถางมาได้ง่าย ๆ เลย แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ดินแห้ง ขยับแล้วไม่ออก เทคนิคง่าย ๆ เลย เอากระถางไปแช่น้ำให้ปริ่ม ๆ ขอบกระถาง ให้ดินชุ่มน้ำเสียหน่อย ซักประมาณ 5 นาที แล้วค่อย ๆ ดึงต้นไม้ออกมา รากจะไม่ขาด ไม่ช้ำ
- เวลาเราจะปลูกไม่ว่าจะได้ต้นมาใหม่ หรือหัวมาใหม่นั้น ตอนปลูกควรเช็คด้วยว่า รากหรือหัวไม่ลอย ดินควรจะกลบอยู่บนรากและหัวของบอน
- ในกรณีที่เป็นต้นใหญ่ ทรงพุ่งถ้าเปลี่ยนกระถาง อาจจะมีอาการใบเหี่ยวได้ แต่อาการแบบนี้จะเป็นไม่นาน ดังนั้นควรหาไม้ค้ำใบไว้ด้วย เพื่อจะได้ทรงพุ่งที่สวยงาม
- มือใหม่สายประกวด กระถางเช็ดให้สะอาด ใบเช็ดด้วยน้ำเปล่าอย่าให้มีฝุ่นจับ ห้ามทำความสะอาดใบด้วยสารเคมีที่ทำให้ใบมันวาว
- ในช่วงฤดูหนาว บอนจะเหี่ยวจนไม่มีใบเลย ไม่ต้องตกใจมันเป็นช่วงฤดูกาลของมัน เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ งดให้น้ำ ปล่อยให้หัวแห้ง พึ่งในที่ร่ม แล้วนำใส่ถุงกระดาษเก็บไว้ พอถึงหน้าฝน ค่อยเอาหัวมาปลูกใหม่ รดน้ำให้ชุ่ม ไม่นานเราจะได้ดูความสวยงามของเค้าอีกครั้ง
เป็นยังไงบ้างกับต้นไม้ฮิตติดกระแสอย่างต้นบอน พร้อมประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และวิธีการปลูกสำหรับมือใหม่ เพื่อน ๆ คนไหนเลี้ยงน้องบอนอยู่ ถ่ายรูปเอามาให้เราดูบ้างได้นะ
ยังไม่รู้ว่าโรงเรียนจะได้เปิดก่อนจบปีการศึกษาหรือป่าว ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีวัคซีนดี ๆ มาต่อสู้กับเจ้าโควิด – 19 ได้ เพื่อน ๆ รักษาสุขภาพกันให้ดีนะ เราต้องรอดไปในทุก ๆ ซีซั่น
ฝากเพื่อน ๆ แวะไปดู เพจท่องเที่ยว ของเราด้วย ฝากกดติดตาม และมาพูดคุยกันได้นะ วันนี้แม่หมีขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ว่าเราจะมาคุยไม้ฮิตติดกระแสต้นอะไรอีก Bye-Bye จ้า